Wednesday, November 11, 2020

 👶บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 7👶 

🥝วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563 🥝

🍉ความรู้ที่ได้รับ🍉
                     การเรียนการสอนวันนี้อาจารย์ให้นักศึกษานำเสนอทฤษฏีที่อาจารย์ได้มอบหมายให้ไปค้นหาและศึกษาเกี่ยวกับทฤษฏีต่างๆ โดยมีทั้งหมด 6 กลุ่ม มีทฤษฏีไฮสโคป โครงการ มอนเตสซอรี่ สะเต็ม วอลดอร์ฟ สืบเสาะโดยกลุ่มของดิฉันได้รับมอบหมายในส่วนของทฤษฏีไฮสโคป




🍑รูปภาพและวิดีโอบันทึกกิจกรรม🍑

การจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคป 👶
                การจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคป (High Scope) นั้น   เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำผ่านมุมกิจกรรมที่หลากหลาย ที่มีสื่อและการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเป็นตัวช่วย โดยปล่อยให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระด้วยตัวเอง มีพื้นฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีของเพียเจท์ (Piage’s Theory) ที่ว่าด้วยการพัฒนาทางสติปัญญา ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้ (Constructive process of learning) ผ่านการกระทำของตน และการประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน

             ที่มาของการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปนั้น เริ่มต้นจากการที่ ดร.เดวิด ไวคาร์ท (Dr.David Weikart) ประธานมูลนิธิวิจัยการศึกษาไฮ/สโคป (High Scope Educational Research Foundation) ได้ร่วมทำงานกับคณะวิจัย อาทิเช่น แมรี่ โฮแมน (Mary Hohmann) และ ดร.แลรี่ ชไวฮาร์ต (Dr.Larry Schweinhart) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคป ซึ่งใช้พื้นฐานจากโครงการเพอรี่ พรี สคูล (Perry Preschool Project) ที่มีมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2505 โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้มีการศึกษาที่เหมาะสม และประสบความสําเร็จในชีวิต
             ในการศึกษาวิจัยในครั้งนั้น มูลนิธิได้ศึกษาเปรียบเทียบเด็ก 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่ได้รับการสอนจากครูโดยตรง (Direct Instruction) กลุ่มเนอร์สเซอรี่แบบดั้งเดิม (Traditional Nursery) และกลุ่มที่ได้รับประสบการณ์โปรแกรมไฮ/สโคป ซึ่งจากการศึกษาติดตามเด็กเหล่านี้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอายุ 29 ปี พบว่ากลุ่มที่เรียนด้วยโปรแกรมไฮ/สโคปนั้น มีปัญหาพฤติกรรมทางสังคม-อารมณ์ เช่น การถูกจับข้อหาลักขโมย ทำร้ายผู้อื่น บกพร่องทางอารมณ์ และล้มเหลวในชีวิตน้อยกว่าอีก 2 กลุ่มขั้นต้น จึงอนุมานได้ว่า โปรแกรมนี้มีผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็กและการเติบโตของเขาในอนาคต

            หัวใจของไฮ/สโคป
             หลักปฏิบัติสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปนั้น  ประกอบด้วยกระบวนการ 3 กระบวนการ อันได้แก่

             1. การวางแผน (Plan) เป็นการให้เด็กกำหนดแนวทางการปฏิบัติ หรือการดำเนินงานตามงานที่ได้รับมอบหมายหรือตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ โดยคุณครูจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กสนทนากับครู หรือสนทนาระหว่างเพื่อนด้วยกัน เพื่อวางแผนการทำงานอย่างเหมาะสม ว่าจะทำอะไร อย่างไร การวางแผนกิจกรรมนี้เด็กต้องมีโอกาสเลือกและตัดสินใจ ซึ่งอาจจะบันทึกด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็กหรือบอกให้ครูช่วยบันทึกก็ได้ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองของเด็กและความรู้สึกในการควบคุมตนเอง ทําให้เด็กสนใจในกิจกรรมที่ตนเองได้วางแผนไว้

             2. การปฏิบัติ (Do) คือ การให้เด็กลงมือทำกิจกรรมตามแผนที่วางไว้อย่างอิสระตามเวลาที่กำหนด โดยเน้นให้เด็กได้ช่วยกันคิด ทดลองและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างมีจุดมุ่งหมาย ได้เรียนรู้ตามประสบการณ์ ค้นพบความคิดใหม่ๆ โดยคุณครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะและให้คำแนะนำ มากกว่าจะลงไปจัดการด้วยตัวเอง การทบทวน

             3. (Review) คือกระบวนการที่ให้เด็กสะท้อนผลงานของตัวเองที่ได้ลงมือทำผ่านการพูดคุยหรือแสดงผลต่างๆ เพื่อทบทวนว่าตนเองนั้นได้ปฏิบัติงานตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กได้เชื่อมโยงแผนการปฏิบัติงานกับผลงานที่ทำ รวมถึงการเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง

            องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบไฮ/สโคป
             องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปที่นับว่าเป็นจุดเด่นของการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ และทำให้เป็นรูปแบบการเรียนรู้นี้แตกต่างจากแนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ นั้น จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึง 6 องค์ประกอบด้วยกัน จึงจะทำให้การจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 6 ข้อ มีดังนี้

             1. เปิดโอกาสให้เด็กเป็นผู้ริเริ่มในการเลือกและตัดสินใจทำกิจกรรมและใช้เครื่องมือต่างๆตามความสนใจของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากกว่าได้รับการบอกต่อความรู้จากผู้ใหญ่

             2. จัดเตรียม สื่อและวัสดุอุปกรณ์ ในห้องเรียนให้มีความหลากหลาย และเหมาะสมกับอายุของเด็ก เพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือกวัสดุอุปกรณ์อย่างอิสระ และควรมีการจัดเก็บอย่างเหมาะสม เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานของเด็ก ซึ่งองค์ประกอบนี้ช่วยให้เด็กรู้จักการเชื่อมโยงการกระทำต่าง ๆ การเรียนรู้ในเรื่องของความสัมพันธ์ และมีโอกาส ในการแก้ปัญหามากขึ้น

             3. พื้นที่และเวลาในห้องเรียนแบบไฮ/สโคป ต้องมีพื้นที่เพียงพอต่อการทำกิจกรรมของเด็ก ทั้งการทำกิจกรรมคนเดียวและการทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม รวมถึงมีการจัดมุมประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านบทบาทสมมุติในมุมประสบการณ์ต่าง ๆ และควรจัดสรรเวลาในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันให้เพียงพอ โดยไม่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้จักการรักษาเวลาอีกด้วย

             4. เน้นให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับวัตถุและนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ และความเกี่ยวข้องของวัตถุนั้นได้ด้วยตัวเอง

             5. ภาษาจากเด็ก เป็นสิ่งที่เด็กสะท้อนประสบการณ์และความเข้าใจของเด็กออกมาเป็นคำพูด ซึ่งเด็กมักจะเล่าว่าตนเอง กําลังทําอะไร หรือทําอะไรไปแล้วในแต่ละวัน เมื่อเด็กมีอิสระในการใช้ภาษาเพื่อสื่อความคิด เด็กจะรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น

             6. ครูคือผู้สนับสนุนและชี้แนะ ซึ่งครูในรูปแบบของการจัดการเรียนรู้แบบไฮ/สโคปนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่คอยรับฟังและส่งเสริมให้เด็กคิด ทําสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง และเป็นผู้สร้างสรรค์ห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้พบกับประสบการณ์สําคัญมากมาย ในชิวตประจำวันอย่างเป็นธรรมชาติ

การจัดการเรียนรู้แบบโครงการ(Project Approach) 👼
            หลักการสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบโครงการนั้น คือ การส่งเสริมให้เด็กศึกษาสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความลุ่มลึกตามความสนใจ ผ่านกระบวนการคิดและแก้ปัญหาจากตัวของเด็กเอง จนได้คำตอบที่ต้องการเพื่อนำเสนอสิ่งที่เรียนรู้นำเสนอต่อผู้อื่น โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการเท่ากับปริมาณเนื้อหาและเพียงพอต่อความสนใจของเด็ก  ส่งผลให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันโดยมีครูเป็นผู้แนะนำและอำนวยความสะดวก

การจัดการเรียนรู้แบบโครงการนั้น ประกอบด้วย กิจกรรมสำคัญ 5 กิจกรรม อันได้แก่

        1. การพูดคุยอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่
        2. การศึกษานอกห้องเรียนและนอกสถานที่
        3. การนำเสนอประสบการณ์การเดิมของเด็กผ่าน การวาดภาพ การเขียน การใช้สัญลักษณ์และการเล่นบทบาทสมมุติ เป็นต้น
        4. มีการสืบค้นและค้นคว้าผ่าน สื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้ และเรียนรู้จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญ
        5. การนำเสนอโครงการด้วยรูปแบบที่หลากหลาย

ซึ่ง กิจกรรมสำคัญทั้ง 5 กิจกรรมนี้จะสอดแทรกอยู่ในวิธีการดำเนินกิจกรรมตามแนวการเรียนรู้แบบโครงการ ซึ่งมีการดำเนินการ เป็น 3 ระยะ คือ

           ระยะเริ่มต้นโครงการ
        เป็นขั้นที่เด็กและครูผู้สอนร่วมกันอภิปรายเพื่อหาหัวข้อที่จะทำการศึกษา โดยต้องเป็นหัวข้อตามความสนใจ สามารถบูรณาการได้ ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน และเด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อกำหนดหัวข้อได้แล้ว จึงกำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตเนื้อหา และระยะเวลาในการศึกษาในหัวข้อนั้น ๆ เพื่อวางแผนการดำเนินโครงการอย่างเหมาะสม โดยนำประสบการณ์เดิมของนักเรียนที่แสดงออกผ่านผลงานต่าง ๆ มาเป็นข้อมูลในการพิจารณา

ซึ่งในขั้นนี้มีการดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือ

        - กำหนดหัวข้อที่จะศึกษา

        - กำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตเนื้อหา และระยะเวลาในการศึกษา

        ระยะดำเนินการ
        เป็นขั้นของการดำเนินกิจกรรมตามแผนที่ได้วางไว้ โดยเน้นให้เด็กร่วมมือกันในการเรียนรู้ เน้นให้เด็กได้ปฏิบัติจริงผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยมีประสบการณ์จากสื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้และวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีคุณครูคอยให้คำแนะนำและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

        สำหรับขั้นนี้มีการดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ

        - กำหนดปัญหาหรือสิ่งที่อยากรู้ตั้งสมมุติฐาน

        - ค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ (ผ่านสื่อการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้และวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ)
        - ทดสอบสมมติฐาน

        ระยะสรุปผลโครงการ
        เป็นขั้นของการนำผลที่ได้จากการดำเนินการมาแสดง ผ่านการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ การเล่านิทาน  การแสดง หรือ การอภิปราย ซึ่งเด็กจะต้องเป็นผู้เลือกวิธีการ และดำเนินการนำเสนอด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้ได้ทบทวนแนวทางในการปฏิบัติ และทบทวนถึงองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินการตามโครงการอีกด้วย

ในชั้นนี้มีการดำเนินงานอยู่ 2 ขั้นตอน คือ

        - สรุปผลที่ได้จากการศึกษา

        - นำเสนอผลการศึกษาที่ได้

ในการจัดการศึกษารูปแบบนี้ อาจไม่จำเป็นต้องให้แล้วเสร็จใน 1 วัน เราอาจจะจัดกิจกรรมทั้งสัปดาห์ หรือในหัวข้อที่มีเนื้อหามาก เราอาจจะจัดทั้งเดือนเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาการเรียนการสอนและคำนึงถึงความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ


การสอนแบบมอนเตสเซอรี่ 👽
            หลักสูตรการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ ผู้ริเริ่มคิดและจัดตั้งวิธีการสอนแบบมอนเตสซอรี่ จากความเชื่อในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กในระยะเริ่มต้นว่า จุดมุ่งหมายในการให้การศึกษาในระยะแรกนั้น ไม่ใช่การเอาความรู้ไปบอกให้เด็ก แต่ควรเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เจริญเติบโตไปตามความต้องการตามธรรมชาติของเขา
            
            จุดมุ่งหมายของการศึกษาแบบมอนเตสซอรี่ คือ “ช่วยพัฒนา หรือให้เด็กมีอิสระในด้านบุคลิกภาพของเด็กในวิถีทางต่างๆ อย่างมากมาย“ สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนระบบมอนเตสซอรี่ คือ การจัดระบบเพื่อสะท้อนถึงศักยภาพที่แท้จริง และความต้องการของเด็ก เพื่อเด็กจะได้พัฒนาบุคลิกภาพของเขา
ลักษณะการสอนระบบนี้ เด็กจะก้าวหน้าไปตามธรรมชาติของการพัฒนาการของเด็ก เด็กมีอิสรภาพในการเลือกจากสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งต่างๆ ซึ่งสนองความพอใจ และความต้องการภายในความรู้สึกของเขา เป็นการจัดระบบของตนเอง เพื่อเด็กจะได้ปรับตัวเข้ากับสภาพของชีวิต
            มอนเตสซอรี่ กล่าวย้ำถึงสิทธิของเด็กในการพัฒนาบุคลิกภาพของเขาในการเรียน สิทธิที่จะมีอิสระในการทำกิจกรรม สำรวจโลกสำหรับตัวของเขาเอง และก็เรียกร้องสิทธิในการที่จะมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม
            เด็กปกติในสิ่งแวดล้อมของมอนเตสซอรี่ จะพัฒนาการเรียนรู้ในการทำงานด้วยตนเอง และความรู้สึกของความรับผิดชอบ มีวิธีการที่จะควบคุมตนเองได้สำเร็จ เด็กเรียนรู้ในการที่จะรับผิดชอบต่อตนเองเป็นเบื้องแรก แล้วก็ต่อสภาพการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เขาได้พบตัวของเขาเอง
            การพัฒนาการทางสังคมสำเร็จได้ ก็ด้วยการมีชีวิตทางสังคมที่แท้จริงในห้องเรียน เด็กเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่ของแต่ละบุคคล และในสภาพของการเป็นสมาชิกของกลุ่ม และมีส่วนร่วมในการที่จะต้องรับผิดชอบ และรู้จักที่จะรอคอยความสำเร็จของการศึกษาแบบมอนเตสซอรี่ พัฒนาการทางด้านอารมณ์ และการปรับตัวทางด้านสังคมมีส่วนร่วมอยู่มาก

            หลักสูตรของการสอนแบบมอนเตสซอรี่
           วิถีทางของการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่นั้น เป็นหลักการที่คำนึงถึงเด็ก ความต้องการของเด็กในการเรียน ได้มีการตระเตรียมสิ่งแวดล้อมให้เด็กได้ทำงานด้วยตนเอง สิ่งแวดล้อม และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ นั้น ได้จัดระบบไว้เพื่อให้เด็กได้พัฒนาตนเอง โปรแกรมจัดเอาไว้ให้เด็กได้เป็นผู้เรียนที่มีอิสระ การควบคุมความผิดพลาดในการทำงานก็ด้วยการใช้วัสดุเหล่านั้นเอง และสิ่งแวดล้อมที่จัดเอาไว้ให้นี้เองเป็นตัวที่ทำให้เด็กมีอิสระ

           การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ 
           โรงเรียนที่ใช้การสอนแบบมอนเตสซอรี่นั้น กิจกรรมถือเป็นส่วนสำคัญของสิ่งต่างๆ ที่ดำเดินไปในโรงเรียน มอนเตสซอรี่เชื่อว่า เด็กเล็กควรจะเรียนด้วยร่างกายทั้งหมดโดยเน้นทางด้านการฝึกฝนทางประสาทสัมผัส กิจกรรม หรืองานที่เด็กทำจะต้องมีความหมาย
            อุปกรณ์การเรียนได้วางรูปแบบเอาไว้ให้เด็กได้ทำงานต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนงานจะกระตุ้นทำให้เด็กทำงานต่อไป การเขียนก็เป็นจุดรวมของทั้งการเห็น การได้ยินและการสัมผัส การแสดงออกทางการเขียนจะผ่านขั้นตอนต่างๆ จากการสัมผัสรูปทรงเลขาคณิตสัมผัสรูปพยัญชนะ สระ จากบัตรตัวอักษรกระดาษทราย
            ใช้ดินสอสีลากไปตามกรอบแผ่นภาพโลหะ และเติมลายเส้นไปในกรอบแผ่นภาพโลหะที่ว่างเอาไว้ ประสมคำโดยใช้ตัวอักษรต่างๆ และเขียนคำลำดับจากรูปธรรมไปสู่นามธรรมนี้ เป็นแนวคิดแฝงอยู่ในการจัดอุปกรณ์การเรียน

การจัดการเรียนรู้ แบบสะเต็ม 💁
        สะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education : STEM Education) เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาที่พบเห็นในชีวิตจริง เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในการปฏิบัติงานที่ต้องใช้องค์ความรู้และทักษะกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในอนาคต
 
       การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาเป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหรือโครงงานที่บูรณาการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ผนวกกับแนวคิดการออกแบบเชิงวิศวกรรม โดยนักเรียนจะได้ทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจและฝึกทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และได้นำความรู้มาออกแบบชิ้นงานหรือวิธีการ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเพื่อให้ได้เทคโนโลยีซึ่งเป็นผลผลิตจากกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม
 
           กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมเป็นขั้นตอนของการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ ซึ่งมีได้หลายรูปแบบแต่มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้

       1. การะบุปัญหา (Identify a Challenge) เป็นขั้นตอนที่ผู้แก้ปัญหาทำความเข้าใจในสิ่งที่เป็นปัญหาในชีวิตประจำวันและจำเป็นต้องหาวิธีการหรือสร้างสิ่งประดิษฐ์ (innovation) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
       2. การค้นหาแนวคิดที่เกี่ยวข้อง (Explore Ideas) คือ การรวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและประเมินความเป็นไปได้ ความคุ้มทุน ข้อดีข้อด้อย และความเหมาะสม เพื่อเลือกแนวคิดหรือวิธีการที่เหมาะสมที่สุด
       3. การวางแผนและพัฒนา (Plan and Develop) ผู้แก้ปัญหาต้องกำหนดขั้นตอนย่อยในการทำงาน รวมทั้งกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาในการดำเนินงานให้ชัดเจน รวมถึงออกแบบและพัฒนาต้นแบบ(prototype) ของผลผลิต เพื่อใช้ในการทดสอบแนวคิดที่ใช้ในการแก้ปัญหา
       4. การทดสอบและประเมินผล (Test and Evaluate) เป็นขั้นตอนทดสอบและประเมินการใช้งานต้นแบบ เพื่อแก้ไขปัญหาโดยผลที่ได้อาจถูกนพมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาผลลัพธ์ให้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหามากขึ้น
       5. การนำเสนอผลลัพธ์ (Present the Solution) หลังการพัฒนา ปรับปรุงทดสอบและประเมินวิธีการแก้ปัญหาหรือผลลัพธ์จนมีประสิทธิภาพตามที่ต้องการแล้ว ผู้แก้ปัญหาต้องนำเสนอผลลัพธ์ โดยออกแบบวิธีการนำเสนอข้อมูลที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ


รูปแบบการจัดการเรียนสอนแบบวอร์ดอฟ 👦
            
แนวคิดพื้นฐาน
            การเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟอยู่บนพื้นฐานที่ว่าการเรียนรู้ของคนเกิดจากความสมดุลของความคิด  ความรู้สึก  และเจตจำนงของคน ๆ นั้น  หากเด็กได้อยู่ในบรรยากาศแห่งความต้องการ  ความรู้สึกสบายใจ  ความผ่อนคลาย  เด็กจะถ่ายทอดความคิดและการเรียนรู้อย่างแยบคลายร่วมไปกับการทำกิจกรรมที่เขากระทำอยู่
            รูดอล์ฟ  สไตเนอร์  ( Rudolf  Stiner ,  1861 – 1925 )  ได้จัดตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟ  ( Waldorf  School )  แห่งแรกขึ้นที่สตุทการ์ต  ประเทศเยอรมนี  เมื่อเดือนกันยายน  ค.ศ.  1919  โดยมีความเชื่อว่าการศึกษาคือการช่วยคนให้ดำเนินวิถีชีวิตแห่งตนที่ถูกต้องตามธรรมชาติ  ด้วยการให้เด็กทำกิจกรรมตามแต่ตนสนใจโดยมีครูและผู้ปกครองเป็นผู้ป้องกันเด็กจากการรบกวนของโลกสมัยใหม่และเทคโนโลยี  สิ่งที่เด็กสัมผัสต้องเป็นธรรมชาติที่บริสุทธ์
            แนวคิดของสไตเนอร์เน้นการเรียนรู้ของเด็กอย่างเป็นธรรมชาติ  เพราะสไตเนอร์เชื่อว่าเด็กสามารถพัฒนาศักยภาพแห่งตนได้ภายใต้การเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติไม่ต้องตกแต่งการสอนของครู  ต้องเป็นการสร้างการเรียนรู้อย่างนุ่มนวลและแทรกซึมไปกับความรู้สึกของเด็กตามธรรมชาติโดยไม่ต้องสัมผัสกับเทคโนโลยี

หลักการสอน
            หัวใจของการเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ  คือ  การสร้างความสมดุลของจิตมนุษย์  3  ประการ  ได้แก่  ความคิด  ความรู้สึก  และการกระทำ  โดยไม่มีการรบกวนจากเทคโนโลยีภายนอก  ความสงบทางจิตใจจะช่วยให้เด็กเรียนรู้จากการใช้วินัยในตนเอง

วิธีจัดการเรียนการสอน 
             การเรียนการสอนตามแบบวอลดอร์ฟเป็นวิธีการตามแบบธรรมชาติ  เป็นไปตามบรรยากาศของชุมชนและตารางกิจกรรมประจำวัน  ที่ครูและผู้เรียนจะเรียนรู้ร่วมกันตามความสนใจของเด็ก  วิธีการจัดการเรียนการสอนจะเป็นการจัดกระทำทั้งระบบตั้งแต่บรรยากาศของโรงเรียน  สิ่งแวดล้อมและห้องเรียนต้องเป็นไปตามวิถีธรรมชาติ  รวมถึงการจัดการเรียนการสอนของครู  ในขั้นตอนการสอนของครูจะมีลักษณะเฉพาะต่างจากการเรียนการสอนแบบอื่น ๆ  ตรงที่การกระตุ้นการเรียนรู้เริ่มจากการแสดงแบบให้เด็กเห็นตามบรรยากาศที่จูงใจ

การสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (5Es) 👾
            การสืบเสาะหาความรู้เป็นแนวคิดที่มีความซับซ้อนและมีความหมายแตกต่างกันไปตามบริบทที่ใช้และผู้ที่ให้คำจำกัดความ โดยศูนย์กลางของการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้นั้น มีต้นกำเนิดจากนักวิทยาศาสตร์ ครู และ นักเรียน

            กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry) 5Es ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
          1. ขั้นสร้างความสนใจ (engagement) เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนหรือเรื่องที่สนใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองจากความสงสัย หรืออาจเริ่มจากความสนใจของตัวนักเรียนเอง หรือเกิดจากการอภิปรายในกลุ่ม เรื่องที่น่าสนใจอาจมาจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในช่วงเวลานั้น หรือเป็นเรื่อง ที่เชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่เพิ่งเรียนรู้มาแล้ว เป็นตัวกระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำถาม กำหนดประเด็นที่จะศึกษาในกรณีที่ยังไม่มีประเด็นใดน่าสนใจ ครูอาจให้ศึกษาจากสื่อต่างๆ หรือเป็นผู้กระตุ้น ด้วยการเสนอประเด็นขึ้นมาก่อน แต่ไม่ควรบังคับให้นักเรียนยอมรับประเด็นหรือคำถามที่ครูกำลังสนใจเป็นเรื่องที่จะใช้ศึกษา เมื่อมีคำถามที่น่าสนใจ และนักเรียนส่วนใหญ่ยอมรับให้เป็นประเด็น   ที่ต้องการศึกษาจึงร่วมกันกำหนดขอบเขตและแจกแจงรายละเอียดของเรื่องที่จะศึกษาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อาจรวมทั้งการรวบรวมความรู้ประสบการณ์เดิม หรือความรู้จากแหล่งต่างๆ ที่จะ ช่วยให้นำไปสู่ความเข้าใจเรื่อง หรือประเด็นที่จะศึกษามากขึ้น และมีแนวทางที่ใช้ในการสำรวจตรวจสอบอย่างหลากหลาย
 
        2. ขั้นสำรวจและค้นหา (exploration) เมื่อทำความเข้าใจในประเด็นหรือคำถามที่สนใจจะศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็มีการวางแผนกำหนดแนวทางการสำรวจตรวจสอบ ตั้งสมมติฐาน กำหนดทางเลือกที่เป็นไปได้ ลงมือปฏิบัติเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อสนเทศ หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ วิธีการตรวจสอบอาจทำได้หลายวิธี เช่น ทำการทดลอง ทำกิจกรรมภาคสนาม การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยสร้างสถานการณ์จำลอง (simulation) การศึกษาหาข้อมูลจากเอกสารอ้างอิงหรือจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้ในขั้นต่อไป
 
       3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (explanation) เมื่อได้ข้อมูลอย่างเพียงพอจากการสำรวจตรวจสอบแล้ว จึงนำข้อมูล ข้อสนเทศที่ได้มาวิเคราะห์ แปลผล สรุปผล และนำเสนอผลที่ได้ในรูปต่างๆ เช่น บรรยายสรุป สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ หรือวาดรูป สร้างตาราง ฯลฯ การค้นพบในขั้นนี้อาจเป็นไปได้หลายทาง เช่น สนับสนุนสมมติฐานที่ตั้งไว้โต้แย้งกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ หรือไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ได้กำหนดไว้ แต่ผลที่ได้จะอยู่ในรูปใดก็สามารถสร้างความรู้และช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้
 
       4. ขั้นขยายความรู้ (elaboration) เป็นการนำความรู้ที่สร้างขึ้นไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือแนวคิดที่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมหรือนำแบบจำลองหรือข้อสรุปที่ได้ไปใช้อธิบายสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ถ้าใช้อธิบายเรื่องต่างๆ ได้มาก็แสดงว่าข้อจำกัดน้อย ซึ่งก็จะช่วยให้เชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆ และทำให้เกิดความรู้กว้างขวางขึ้น
 
     5. ขั้นประเมิน (evaluation)เป็นการประเมินการเรียนรู้ด้วยกระบวนการต่างๆ ว่านักเรียนมีความรู้อะไรบ้าง อย่างไรและมากน้อยเพียงใด จากขั้นนี้จะนำไปสู่การนำความรู้ ไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ การนำความรู้หรือแบบจำลองไปใช้อธิบายหรือประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์หรือเรื่องอื่นๆ จะนำไปสู่ข้อโต้แย้งหรือข้อจำกัดซึ่งก่อให้เป็นประเด็นหรือคำถาม หรือปัญหาที่จะต้องสำรวจตรวจสอบต่อไป ทำให้เกิดเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ จึงเรียกว่า inquiry cycle กระบวนการสืบเสาะหาความรู้จึงช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งเนื้อหาหลัก และหลักการ ทฤษฎี ตลอดจนการลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้ความรู้ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ต่อไป




🍑รูปภาพและวิดีโอบันทึกกิจกรรม🍑


            หลังจากการนำเสนอเสร็จอาจารย์ก็ได้แนะนำสิ่งต่างๆที่เราได้ทำผิดหรือพลาดในบางเรื่องในการนำเสนอ ความน่าสนใจในการนำเสนอ วิธีต่างๆที่ถูกต้อง และวิธีที่ทำให้การนำเสนอน่าสนใจมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาไปปรับใช้ในครั้งต่อไป

🍭บรรยากาศการทำกิจกรรม🍭 : กิจกรรมมีการนำเสนอเป็นไปดี อาจารย์อธิบายได้เข้าใจในแต่ละเนื้อหา บรรยากาศไม่เครียดมาก ยังมีความสนุกสนานในการเรียนการสอน











No comments:

Post a Comment

  💝 บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 14 💝 🥝 วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563   🥝 🍉 ความรู้ที่ได้รับ 🍉                           การเรียนกา...